ความเป็นมา

การตรวจสอบภายในส่วนราชการ เริ่มมีขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2505 ตามระเบียบการเบิกจ่ายเงินจากคลังของกระทรวงการคลัง ซึ่งได้กำหนดให้ส่วนราชการ แต่งตั้งข้าราชการอย่างน้อย 1 คน เพื่อทำหน้าที่เป็น        ผู้ตรวจสอบภายใน ต่อมาได้มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2519 ตามหนังสือแจ้งของสำนักงานเลขาธิการการคณะรัฐมนตรี ที่ สร 0201/ว78  ลงวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2519 เรื่อง การแต่งตั้งผู้ตรวจสอบภายในส่วนราชการ โดยให้ส่วนราชการจัดตั้งหน่วยตรวจสอบภายในขึ้น และให้กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เป็นผู้รับผิดชอบในการกำกับดูแล ส่งเสริม สนับสนุนด้านวิชาการ และปรับปรุงมาตรฐานการตรวจสอบภายใน ซึ่งปัจจุบันกระทรวงการคลัง ได้กำหนดหลักเกณฑ์กระทรวงการคลังว่าด้วยมาตรฐานและหลักเกณฑ์ปฏิบัติการตรวจสอบภายในสำหรับหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2561 ฉบับที่ 1 ถึงแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2562 และฉบับที่ 3 พ.ศ. 2564 เพื่อกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบในการปฏิบัติงานของ         ผู้ตรวจสอบภายใน

หน่วยตรวจสอบภายใน มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง จัดตั้งขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 18 (2) แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง พ.ศ. 2547 และประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง      การแบ่งส่วนราชการมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง พ.ศ. 2549 สภามหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ในคราวประชุมครั้งที่ 12/2549 เมื่อวันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 มีมติเห็นชอบการแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัย     ราชภัฏลำปางเป็นงาน ตามประกาศ ณ วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ข้อ 9 ให้แบ่งส่วนราชการเป็นงาน      ส่วนราชการหรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่างาน ในหน่วยตรวจสอบภายในดังนี้          งานบริหารทั่วไป งานตรวจสอบด้านการบริหารเงินและบัญชี งานตรวจสอบติดตามประเมินผล เพื่อให้ความเชื่อมั่นและการให้คำปรึกษาอย่างเที่ยงธรรม และเป็นอิสระ เพิ่มคุณค่าและปรับปรุงการปฏิบัติงานให้บรรลุถึงเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ด้วยการประเมินและปรับปรุงประสิทธิผลของกระบวนการบริหารความเสี่ยง การควบคุม และการกำกับดูแลอย่างเป็นระบบ และอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 18 (14) แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 และข้อ 14 ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ว่าด้วยการตรวจสอบภายใน พ.ศ. 2564 ประกอบมติสภามหาวิทยาลัยในการประชุม ครั้งที่ 9/2564 เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 จึงแต่งตั้งให้มีคณะกรรมการตรวจสอบภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง เพื่อให้การตรวจสอบภายในของมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางบรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลของจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ

วิสัยทัศน์  (vision)

สร้างความเชื่อมั่นและการให้คำปรึกษา เพื่อประโยชน์ของมหาวิทยาลัย

พันธกิจ (Mission)

  1. สร้างความเชื่อมั่นผ่านกระบวนการตรวจสอบตามมาตรฐานและหลักเกณฑ์ปฏิบัติการตรวจสอบภายในสำหรับหน่วยงานของรัฐ
  2. การให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานในมหาวิทยาลัย

เป้าหมาย (Target)

  1. มีระบบการบริหารจัดการที่ดี บรรลุตามเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล
  2. สร้างความมั่นใจ ความถูกต้องตามระเบียบที่กำหนดไว้และความน่าเชื่อถือของรายงานพร้อมทั้งให้คำแนะนำ เพื่อปรับปรุงพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
  3. การให้ความเชื่อมั่น การให้คำปรึกษาอย่างเที่ยงธรรมและเป็นอิสระ เพื่อเพิ่มคุณค่าและปรับปรุงการดำเนินงานของหน่วยงานสามารถช่วยให้องค์กรบรรลุเป้าหมาย

นโยบาย(Policy)

  1. ผู้ตรวจสอบภายในต้องยึดหลักการปฏิบัติงานตามมาตรฐานวิชาชีพ และจริยธรรมการปฏิบัติงานการตรวจสอบภายใน
  2. ผู้ตรวจสอบภายในต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ มีความอิสระ เที่ยงธรรม มีความระมัดระวังรอบคอบ และเชี่ยวชาญในการปฏิบัติงาน
  3. ผู้ตรวจสอบภายในต้องพัฒนาทักษะ ความรู้ ความสามารถในการปฏิบัติงาน เพื่อให้ความเชื่อมั่นและคำปรึกษาแก่หน่วยตรวจรับ

วัตถุประสงค์ (Objective)

  1. เพื่อเพิ่มคุณค่าหรือปรับปรุงการปฏิบัติงาน โดยให้คำปรึกษา และให้ข้อเสนอแนะด้วยความเที่ยงธรรม
  2. เพื่อให้ความเชื่อมั่นและส่งเสริมการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล รวมทั้งความประหยัดและความคุ้มค่าในการใช้ทรัพยากร
  3. เพื่อส่งเสริมกระบวนการบริหารความเสี่ยง การควบคุมภายในและการกำกับดูแลอย่างต่อเนื่อง
  4. เพื่อให้ความเชื่อมั่น ความถูกต้องเชื่อถือได้ของข้อมูลทางการเงิน และการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง ที่เกี่ยวข้องอย่างถูกต้อง
  5. เพื่อให้ความเชื่อมั่น หรือส่งเสริมระบบการบริหารทรัพย์สิน ตลอดจนการดูแลรักษาความปลอดภัยของทรัพย์สิน
  6. เพื่อป้องกันข้อผิดพลาด ลดความเสี่ยง ที่อาจก่อให้เกิดการทุจริต รั่วไหลด้านการเงินและระบบทรัพย์สินอย่างเป็นระบบ

อำนาจหน้าที่

  1. ผู้ตรวจสอบภายในมีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูล บุคคล เอกสารหลักฐานและทรัพย์สินต่าง ๆ เพื่อ รับทราบข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานตรวจสอบ
  2. หน่วยตรวจสอบภายใน ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย วิธีปฏิบัติงาน และจัดวาง ระบบการควบคุมภายใน ผู้ตรวจสอบภายในมีหน้าที่เป็นเพียงผู้ให้คำปรึกษาแนะนำ
Scroll to Top